การศึกษาประโยชน์และข้อควรคำนึงในการประยุกต์ใช้แนวทางภาพถ่ายศิลปะร่วมสมัยกับงานสารคดีในไทย
BY อาจารย์กานตชาติ เรืองรัตนอัมพร
ประเภทงานวิจัย:งานวิจัย
ปีที่เผยแพร่:2018
ระดับงานวิจัย:ระดับชาติ
คำสำคัญ:ภาพถ่ายสารคดี / ภาพถ่ายศิลปะร่วมสมัย / การประยุกต์ใช้ / การผสมผสาน / แนวทางการทำงาน, Documentary Photography / Contemporary Art Photography / Application / Combination
บทคัดย่อ:
ภาพถ่ายสารคดีนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยอย่างต่อเนื่อง จากเดิมเป็นภาพที่เน้นเป็นสื่อบันทึกที่มุ่งเน้นการยึดโยงกับข้อเท็จจริงเป็นหลักมาสู่การผสมผสานเอาแนวทางที่หลากหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดเชิงศิลปะ ทำให้หน้าที่หรือการทำงานของภาพถ่ายค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปสู่จุดใหม่ ไม่ได้เน้นเพียงข้อเท็จจริง แต่ยังทำหน้าที่ด้านความสวยงามด้วย ปัจจุบันมักพบการใช้แนวทางภาพถ่ายศิลปะร่วมสมัยมาปรากฏในงานภาพถ่ายสารคดีต่างประเทศ จึงน่าสนใจศึกษาว่าในประเทศไทยมีการประยุกต์ผสมผสานแนวทางสองลักษณะนี้หรือไม่และเป็นอย่างไร การวิจัยนี้ใช้วิธีการเก็บข้อมูลสองวิธี คือ วิธีเชิงปริมาณ ได้แก่การสำรวจหาความถี่ปริมาณการพบภาพถ่ายที่มีลักษณะร่วมกับแนวคิดวิธีการภาพถ่ายศิลปะร่วมสมัยที่ตีพิมพ์ลงในนิตยสารประเภทสารคดีเป็นภาษาไทย เจาะจงนิตยสารที่มีการใช้ชุดภาพถ่ายประกอบการเล่าเรื่อง สมํ่าเสมอ ตลอดเวลา 3 ปี คือ ปี พ.ศ. 2557 ถึง พ.ศ.2559 ได้แก่ นิตยสารสารคดี และนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ประเทศไทย จำนวน 72 ฉบับ การสำรวจเชิงปริมาณนี้เป็นการเน้นสำรวจว่าภาพถ่ายสารคดีในไทยนั้นมีการใช้แนวทางภาพถ่ายศิลปะร่วมสมัยเข้ามาแล้วหรือไม่ และมีมากน้อยเพียงใด ในลักษณะใด โดยเน้นพิจารณาความถี่ที่ปรากฏ จากนั้นจึงได้ทำการสัมภาษณ์บรรณาธิการนิตยสารทั้งสองเล่มตามโครงสร้างองค์กร จำนวน 3 ท่าน และช่างภาพที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก คือ มีผลงานตีพิมพ์เฉลี่ยอย่างน้อย 3 ครั้งในระยะเวลา 3 ปี เป็นจำนวนทั้งสิ้น 14 ท่าน เป็นการสัมภาษณ์แบบการสัมภาษณ์เชิงลึก (Depth-interview แบบ Structured Interview) เพื่อสำรวจความเห็น ข้อกังวลและข้อเสนอแนะที่มีต่อการผสมผสานแนวทางทั้งสองเข้าด้วยกัน
จากการวิจัยพบว่า การผสมผสานแนวทางทั้งสองในไทยนั้นมีปรากฏอยู่บ้างแต่เป็นในลักษณะภาพบางภาพที่ประกอบอยู่ในภาพชุดจึงทำให้ลักษณะภาพถ่ายร่วมสมัยนั้นไม่เด่นชัด มีเพียงผลงานภาพถ่ายชิ้นเดียวเท่านั่นที่ปรากฏลักษณะร่วมของภาพถ่ายศิลปะร่วมสมัยทั้งชุดภาพ สาเหตุเพราะการทำงานสารคดีในไทยนั้นยังยึดติดกับแนวคิดดั้งเดิมของภาพถ่ายสารคดีที่เน้นเรื่องข้อเท็จจริงเป็นหลัก ช่างภาพและบรรณาธิการยังมีความเข้าใจในภาพถ่ายศิลปะร่วมสมัยอย่างจำกัด รวมทั้งทิศทางของนิตยสาร ข้อจำกัดของสื่อสิ่งพิมพ์และผู้รับสารที่ยังคงเดิม ทำให้ลักษณะการผสมผสานปรากฏไม่มากนัก อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากวิธีการทำงานในปัจจุบันที่ใช้การประดิษฐ์ภาพมากขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสื่อ เช่นการเข้ามาของสื่อออนไลน์ ก็ทำให้แนวโน้มการผสมผสานนั้นเป็นไปได้มากขึ้น การผสมผสานอาจทำให้สามารถเล่าเรื่องเดิมในมุมใหม่ๆ หรือทำให้การนำเสนอน่าสนใจมากขึ้น สามารถดึงดูดผู้ชมกลุ่มใหม่ๆ แต่ก็มีข้อควรระวังเรื่องการนำเสนอข้อเท็จจริง เพราะภาพถ่ายศิลปะร่วมสมัยค่อนข้างเปิดช่องในการตีความ ช่างภาพจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจเรื่องราวที่ต้องการนำเสนอและแนวทางเงื่อนไขของศิลปะภาพถ่ายร่วมสมัยเสียก่อนจึงจะนำมาใช้แล้วได้ผล