งานสร้างสรรค์เรื่อง การถ่ายภาพเล่าเรื่องแบบ Tableaux Staged Photography
BY อาจารย์วารี ฉัตรอุดมผล
ประเภทงานวิจัย:งานวิจัย
ปีที่เผยแพร่:2018
ระดับงานวิจัย:ระดับชาติ
คำสำคัญ:ภาพถ่ายพรรณนา, ตาโบล์วิวอง, สัญศาสตร์, Tableau Staged Photography, Tableau-vivant, Semiotic
บทคัดย่อ:
งานวิจัยสร้างสรรค์เรื่อง “การถ่ายภาพเล่าเรื่องแบบ Tableau Staged Photography” เป็นการศึกษาวิจัยแบบ “สร้างสรรค์ศิลปะ-วิจัย” (practice-based research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางในการสร้างสรรค์และเทคนิคการเล่าเรื่องของ “ภาพถ่ายพรรณนา” หรือ Tableau Staged Photography และนำองค์ความรู้ที่ได้มาปรับใช้ในการทดลองสร้างสรรค์ผลงานภาพถ่ายเล่าเรื่องชุด THE SHOW เพื่อนาผลการศึกษาที่ได้จากกระบวนการศึกษาและสร้างสรรค์ไปพัฒนาองค์ความรู้ในสาขาศิลปะการถ่ายภาพและศิลปะการสื่อสารด้วยภาพ (Visual Communication Art)
การศึกษาวิจัยแบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ ด้านการวิจัยและด้านการพัฒนา (Research and Development) โดยมีขอบเขตการวิจัยเกี่ยวข้องกับกระบวนการและเทคนิคการสร้างภาษาในการสร้างสรรค์ผลงานภาพถ่ายเล่าเรื่องแบบ Tableau Staged Photography ด้วยการศึกษาจากองค์ความรู้ด้านทัศนศิลป์ ศิลปะภาพยนตร์ ศิลปะการละคร และศิลปะภาพถ่าย และการทดลองปฏิบัติ
ด้านที่ 1 เป็นการศึกษาวิจัย ที่มา ความสำคัญ รูปแบบ และวิธีการในการสื่อสารของศิลปะการถ่ายภาพเล่าเรื่องแบบ Tableau Staged Photography จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์และตัวอย่างผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในวงการศิลปะร่วมสมัยระดับโลก
ด้านที่ 2 เป็นการศึกษาวิจัยแบบ Visual practice หรือการทดลองปฏิบัติการสร้างสรรค์ผลงานภาพถ่ายตามแนวคิดที่ต้องการสื่อสาร โดยนำองค์ความรู้ที่ประมวลได้จากการวิจัยในขั้นแรกมาปรับใช้เป็นแนวทางพัฒนาแนวคิดและรูปแบบของผลงานภาพถ่ายเล่าเรื่องชุด THE SHOW
ผลการศึกษาพบว่าภาพถ่ายเล่าเรื่องแบบ Tableau Staged Photography นั้นมีวิธีการในการสื่อสารที่เกิดจากการผสมผสานองค์ความรู้ที่มีความเป็นสหวิทยาการจากทัศนศิลป์หลายแขนง เช่น จิตรกรรม ศิลปะการถ่ายภาพ ศิลปะการละครเวที และการสร้างภาษาภาพในภาพยนตร์ มีวิธีการสื่อสารเนื้อหาโดยเน้นการสื่อสารผ่านการเล่าเรื่องและการแสดง (theatrical-like) มีรูปแบบที่เน้นการสร้างภาพในจินตนาการโดยการจัดสร้าง (construct) เน้นการถ่ายทอดความหมายผ่านภาพที่มีองค์ประกอบมากมาย เช่น ตัวละคร ฉาก อุปกรณ์ประกอบฉาก ซึ่งทำหน้าที่เป็นสัญญะที่ถูกจัดวางไว้ในกรอบภาพเพื่อสร้างความหมายผ่านรายละเอียดทั้งหมด ซึ่งไม่บอกเล่าอย่างตรงไปตรงมาแต่ซ่อนนัยยะในการตีความ นิยมนาเสนอผ่านผลงานขนาดใหญ่เพื่อวางผู้ชมให้ตกอยู่ในฐานะผู้เฝ้ามอง (voyeur) และเชื้อเชิญให้ค้นหาโดยพิจารณารายละเอียดและประกอบสร้างความหมายขึ้นจากการ “อ่านภาพ” เป็นความหมายและการเล่าเรื่องที่ไม่ยัดเยียดแต่ทิ้งพื้นที่บางส่วนให้ผู้อ่านภาพพิจารณา