ทัศนคติ ความคาดหวังและแนวโน้มพฤติกรรมการชมภาพยนตร์ไทยของผู้สูงวัยในเขตกรุงเทพมหานคร
BY รองศาสตราจารย์แอนนา จุมพลเสถียร, รองศาสตราจารย์ปัทมา สุวรรณภักดี
ประเภทงานวิจัย:งานวิจัย
ปีที่เผยแพร่:2018
ระดับงานวิจัย:ระดับชาติ
คำสำคัญ:การเปิดรับสื่อ ทัศนคติ ความคาดหวัง แนวโน้มพฤติกรรมการรับชมภาพยนตร์ไทย, media exposure, attitude, expectation, behavioral trend toward Thai movie viewing
บทคัดย่อ:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปิดรับสื่อ การรับชม ทัศนคติ ความคาดหวัง และแนวโน้มพฤติกรรมที่มีต่อภาพยนตร์ไทย ตลอดจนศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อแนวโน้มพฤติกรรมในการชมภาพยนตร์ไทยของกลุ่มผู้สูงวัยในกรุงเทพมหานคร การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ด้วยรูปแบบการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) แบบตัดขวาง (Cross-sectional Study) ทำการศึกษาในกลุ่มผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปในกรุงเทพมหานคร ที่ได้ชมภาพยนตร์ไทยในปีที่ผ่านมาอย่างน้อย 1 เรื่อง จำนวน 400 คน ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุ 60-69 ปี การศึกษาระดับประถม ปริญญาตรีและมัธยมศึกษาในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน รายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 10,000 บาท ส่วนใหญ่เปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับภาพยนตร์ไทยจากสื่อโทรทัศน์ โดยเปิดรับข่าวสารเกี่ยวภาพยนตร์เรื่องใหม่ ๆ ที่เข้าฉาย เนื้อหาภาพยนตร์ นักแสดง และเบื้องหลังการถ่ายทำ และเปิดรับในช่วง 18.00-21.00 น. ส่วนใหญ่ชมภาพยนตร์ไทยโดยเฉลี่ย 4 เรื่องต่อปีโดยมักชมคนเดียว และรับชมประเภทภาพยนตร์บันเทิงแนวตลก เพื่อความบันเทิง คลายเครียดในชีวิตประจำวัน มักเลือกชมโดยพิจารณาจากเนื้อเรื่องและตัวนักแสดงหลัก กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีทัศนคติโดยรวมต่อภาพยนตร์ไทยเป็นเชิงบวก (ค่าเฉลี่ย 3.61) โดยมีทัศนคติเชิงบวกสูงสุดใน องค์ประกอบด้านผลิตภัณฑ์ (Product) (ค่าเฉลี่ย 3.7) ตามด้วยทัศนคติต่อด้านสถานที่และการจัดจำหน่าย (Place) (ค่าเฉลี่ย 3.68) ด้านการส่งเสริมการตลาด(Promotion) (ค่าเฉลี่ย 3.58)ตามลำดับ และมีทัศนคติเป็นกลางในด้านราคา (Price) (ค่าเฉลี่ย 3.37) โดยส่วนใหญ่รู้สึกว่า การโฆษณาตัวอย่างภาพยนตร์ในสื่อโทรทัศน์ช่วยให้อยากชมภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ (ค่าเฉลี่ย 3.84) และรู้สึกว่าแนวเนื้อหาของภาพยนตร์ไทยช่วยผ่อนคลายความเครียดได้เป็นอย่างดี (ค่าเฉลี่ย 3.81) รวมถึงแนวเนื้อหา(Genre) ของภาพยนตร์ไทยสามารถสะท้อนประเด็นต่าง ๆ ในสังคมได้อย่างดี (ค่าเฉลี่ย 3.78) นอกจากนั้น กลุ่มตัวอย่างมีคาดหวังต่อภาพยนตร์ไทยในระดับสูงโดยเฉพาะในด้านนำเสนอเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ รองลงมาคือ ภาพยนตร์ไทยที่ถ่ายทำโดยใช้สถานที่ต่างๆ ในประเทศ ภาพยนตร์ที่มีการใช้เทคนิคใหม่ๆ ในการถ่ายทำ ภาพยนตร์ที่ใช้นักแสดงที่ชื่นชอบและภาพยนตร์ที่สร้างจากบทประพันธ์ที่มีชื่อเสียงตามลำดับ ทั้งนี้ ส่วนใหญ่มีความแนวโน้มพฤติกรรมในการชมภาพยนตร์ไทยต่อไป นอกจากนั้น จากการทดสอบสมมติฐานการวิจัยยังพบว่า ลักษณะทางประชากร (เพศ อายุ ระดับการศึกษา รายได้ส่วนตัว) ของกลุ่มผู้สูงวัยที่แตกต่างกันมีการเปิดรับสื่อ และการรับชมภาพยนตร์ไทยที่ไม่แตกต่างกัน รวมทั้งทัศนคติไม่มีความสัมพันธ์กับการรับชมภาพยนตร์ไทย แต่ทัศนคติมีความสัมพันธ์กับการเปิดรับสื่อโทรทัศน์และแนวโน้มพฤติกรรมในการรับชมภาพยนตร์ไทย