การศึกษาผลของการเลือกเปิดรับข่าวสาร ต่อความสนใจ ความผูกพัน และการมีส่วนร่วมทางการเมือง ผ่านสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ค (Facebook) และทวิตเตอร์ (Twitter)
BY ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัจฉรา ปัณฑรานุวงศ์
ประเภทงานวิจัย:งานวิจัย
ปีที่เผยแพร่:2017
ระดับงานวิจัย:ระดับชาติ
คำสำคัญ:-, -
บทคัดย่อ:
การวิจัยเรื่องการศึกษาผลของการเลือกเปิดรับข่าวสารต่อความสนใจ ความผูกพัน และการมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ค (Facebook) และทวิตเตอร์ (Twitter) เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ ด้วยวิธีการสำรวจ (survey) แบบเก็บข้อมูลครั้งเดียว (cross-sectional study) กลุ่มตัวอย่างคือผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ประเภทเฟซบุ๊ค (Facebook) หรือทวิตเตอร์ (Twitter) กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างจำนวน 400 คน และใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือเก็บข้อมูล โดยแบ่งเป็นการเก็บข้อมูลแบบออนไลน์ (Online Questionnaire) จำนวน 100 ชุด และเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างโดยตรงในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และในภูมิภาครวมจำนวน 300 ชุด
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ใช้ทั้งเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ในการติดตามเนื้อหาด้านการเมืองเป็นประจำ โดยจากรายชื่อแฟนเพจและบัญชีทวิตเตอร์ที่กำหนดในแบบสอบถาม ในส่วนของเฟซบุ๊ค กลุ่มตัวอย่างติดตามแฟนเพจเฟซบุ๊คที่เป็นสำนักข่าวมากที่สุด ได้แก่ Voice TV และ Nation TV22 ขณะที่บัญชีทวิตเตอร์ที่กลุ่มตัวอย่างติดตามมากที่สุดคือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ สำหรับประเด็นความสนใจทางการเมือง พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความสนใจทางการเมืองในระดับมาก ในขณะที่ ด้านความผูกพันทางการเมือง พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่ระบุพรรคการเมือง/กลุ่มการเมืองที่ตนชื่นชอบบนโพรไฟล์สื่อสังคมออนไลน์ของตน และมีความรู้สึกผูกพันทางการเมืองกับพรรคการเมือง/กลุ่มการเมืองที่ตนชื่นชอบในระดับน้อย สำหรับการมีส่วนร่วมทางการเมือง พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบออนไลน์ในระดับน้อย และมีระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองในชีวิตจริงน้อยเช่นกัน
ผลการศึกษาเชิงอนุมานพบว่า เพศ ระดับการศึกษา และภูมิลำเนา มีความสัมพันธ์กับการเปิดรับเนื้อหาด้านการเมืองผ่านสังคมออนไลน์ มีเพียงอายุเท่านั้น ที่ผลการทดสอบระบุว่าไม่มีความสัมพันธ์ นอกจากนี้ ยังพบว่าประชาชนที่มีการเลือกเปิดรับข้อมูลข่าวสารทางการเมืองผ่านสื่อสังคมออนไลน์แตกต่างกันจะมีความสนใจทางการเมืองแตกต่างกัน โดยผู้ที่มีลักษณะการเปิดรับข้อมูลแบบละเอียดจะมีระดับความสนใจทางการเมืองสูงสุด ทั้งนี้ เมื่อจัดกลุ่มการเปิดรับข้อมูลข่าวสารตามกลุ่มความคิดทางการเมือง ก็พบว่า การเปิดรับข้อมูลจากกลุ่มเฟซบุ๊คแฟนเพจและบัญชีทวิตเตอร์ที่มีความคิดทางการเมืองแตกต่างกัน ทำให้มีความสนใจทางการเมืองที่แตกต่างกันด้วย ในด้านความสนใจทางการเมืองพบว่ามีความสัมพันธ์กับความผูกพันทางการเมือง โดยความสัมพันธ์เป็นในเชิงบวก หมายความว่า ผู้ที่มีระดับความสนใจทางการเมืองสูง จะส่งผลให้มีระดับความผูกพันทางการเมืองสูงด้วย ทั้งนี้ ขนาดความสัมพันธ์ดังกล่าวอยู่ในระดับปานกลาง
ในลักษณะเดียวกัน พบว่าความผูกพันทางการเมืองมีความความสัมพันธ์เชิงบวกในระดับสูงกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง และยังพบด้วยว่า การมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบออนไลน์นั้นมีขนาดความสัมพันธ์กับความผูกพันทางการเมืองมากกว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองในชีวิตจริง นอกจากนี้ ยังได้พบความสัมพันธ์เชิงบวกในระดับสูงมากระหว่างการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบออนไลน์กับระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองในชีวิตจริง
นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้ที่เปิดรับสื่อจากกลุ่มการเมืองแตกต่างกันจะมีความผูกพันทางการเมืองกับกลุ่มการเมืองแตกต่างกัน กล่าวคือ ลักษณะการเปิดรับข้อมูลข่าวสารจากสื่อสังคมออนไลน์ของกลุ่มตัวอย่าง มีความสอดคล้องหรือเปิดรับจากแหล่งข่าวสารที่มีความคิดทางการเมืองแบบเดียวกับตน