การวิเคราะห์ตระกูลรายการท่องเที่ยวทางโทรทัศน์
BY รองศาสตราจารย์ ดร.สมสุข หินวิมาน
ประเภทงานวิจัย:งานวิจัย
ปีที่เผยแพร่:2019
ระดับงานวิจัย:ระดับชาติ
คำสำคัญ:-, -
บทคัดย่อ:
งานวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ให้เข้าใจถึงคุณลักษณะ “ขนบ/สูตร” และ “ความแปลกใหม่/นวัตกรรม” และการผลิตซ้ำและต่อสู้ทางอุดมการณ์ ที่ปรากฏอยู่ในตระกูลรายการท่องเที่ยวทางโทรทัศน์ของไทย โดยใช้แนวคิดเกี่ยวกับตระกูลรายการโทรทัศน์เป็นพื้นฐาน และศึกษากลุ่มตัวอย่างตัวบทของรายการท่องเที่ยวที่ออกอากาศในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม 2560 จำนวนรวมทั้งสิ้น 7 รายการ
ผลการวิจัยพบว่า จากการวิเคราะห์กลุ่มตัวอย่างของรายการท่องเที่ยวในมิติทั้ง 7 ด้าน อันได้แก่ (1) โครงเรื่อง/แก่นเรื่อง (2) พิธีกร/ผู้ไปเยือน (3) คนในพื้นที่/เจ้าของบ้าน (4) เวลาในการเดินทาง (5) พื้นที่/สถานที่ในการเดินทาง (6) กิจกรรมที่ทำในระหว่างท่องเที่ยว และ (7) รสนิยมในการท่องเที่ยว ตระกูลรายการท่องเที่ยวทางโทรทัศน์ได้ตอกย้ำ “ขนบ/สูตร” และ “ความแปลกใหม่/นวัตกรรม” ที่ว่า การท่องเที่ยวก็คือการที่คนๆ หนึ่งออกเดินทางจาก “บ้าน” ด้วยเป้าหมายบางอย่าง และเขา/เธอก็เดินทางถึงจุดหมายปลายทาง เพื่อไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนในพื้นที่ และเพื่อทำกิจกรรมที่ “เกินไปกว่า” ชีวิตประจำวัน หลังจากนั้น เขา/เธอก็สิ้นสุดการเดินทางและกลับคืนสู่ “บ้าน” ที่เดินทางจากมา
ภายใต้ “สูตร” ดังกล่าว ตระกูลรายการท่องเที่ยวได้ผลิตซ้ำเพื่อสืบทอดอุดมการณ์แห่งคนชั้นกลางไทย ที่ใช้การท่องเที่ยวทั้งเพื่อธำรงรักษาอัตลักษณ์อันโดดเด่น และเพื่อสะท้อนย้อนคิดในการทำความเข้าใจตัวตนทางสังคมของตนเอง