การสื่อสารทางการเมืองเพื่อการโต้แย้งของภาคประชาชนในประเทศไทย ระหว่าง 30 ตุลาคม พ.ศ. 2556 – 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
BY ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นันทพร วงษ์เชษฐา
ประเภทงานวิจัย:งานวิจัย
ปีที่เผยแพร่:2018
ระดับงานวิจัย:ระดับชาติ
คำสำคัญ:การเมืองภาคประชาชน การสื่อสารทางการเมือง การโต้แย้งทางการเมือง, Civil Politics, Political Communication, Contentious Politics
บทคัดย่อ:
งานวิจัยเรื่องการสื่อสารทางการเมืองเพื่อการโต้แย้งของภาคประชาชนในประเทศไทย ระหว่าง 30 ตุลาคม พ.ศ. 2556 – 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการสื่อสารทางการเมืองที่มีสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในการโต้แย้งของภาคประชาชนกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเพื่อสร้างตัวแบบการสื่อสารทางการเมืองเพื่อการโต้แย้งของภาคประชาชนจากกรณีดังกล่าว โดยใช้แนวคิดการโต้แย้งทางการเมืองของทิลลีและทาร์โรว์ร่วมกับแนวคิดพลังในการเคลื่อนไหวที่ผลักดันให้ข้อเรียกร้องไปสู่การกระทำของทาร์โรว์ แต่เน้นเฉพาะพลังการสื่อสารเท่านั้น ผู้วิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ การเก็บข้อมูลจากหลักฐานต่างๆ ได้แก่ วิดิทัศน์การปราศรัยของสุเทพ เทือกสุบรรณที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาของการโต้แย้ง สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อใหม่ และสัมภาษณ์แบบเจาะลึกจากผู้ให้ข้อมูลระดับแกนนำการโต้แย้ง ใช้แนวทางการลดทอน การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการถอดความต่อข้อมูลเพื่อจัดแยกประเภทและหมวดหมู่ในการหาข้อสรุปของงานวิจัย ผลการวิจัยพบว่าการสื่อสารทางการเมืองเพื่อการโต้แย้งของภาคประชาชนได้ยกระดับความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ตามสถานการณ์เป็นระยะซึ่งสามารถแบ่งการสื่อสารออกเป็น 3 ระยะ คือ การคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ การขจัดระบอบทักษิณและการปฏิรูปการเมือง และสามารถสร้างแบบจำลองการสื่อสารทางการเมืองเพื่อการโต้แย้งของภาคประชาชนได้ 4 ขั้นตอน คือ การก่อชนวน การรวบรวมสรรพกำลัง การหยั่งกาลังและจัดตั้งองค์กร และการยกระดับสูงสุดคือการโต้แย้งทางการเมืองเต็มรูปแบบ